วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

บทที่ 3 กระบวนการสื่อสาร

บทที่ 3
กระบวนการสื่อสาร

การสื่อสารหรือการสื่อความหมาย มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตตลอดชีวิต การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต้องอาศัยการสื่อสารเป็นปัจจัยหลักในการถ่ายทอดเรื่องราวจากแหล่งหนึ่งไปสู่แหล่งอื่น ทางด้านการศึกษาต้องใช้การสื่อสารในการถ่ายทอดความรู้ ความรู้สึก หรือเจตนาของเนื้อหาบทเรียนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการสื่อสารจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับครูผู้สอนหรือผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอน

ความหมายของการสื่อสาร
การสื่อสาร ในภาษาไทยมีใช้อยู่หลายคำ เช่น การติดต่อสื่อสาร หรือ การสื่อความหมาย มาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกันคือ communication
การสื่อสาร มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า communis หมายถึง common ส่วนคำว่า communication นั้นเป็นศัพท์รูปกริยาในภาษาละตินว่าcommunicare หมายถึง พยายามให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน มีความคิดเห็น ความรู้สึกร่วมกัน หมายถึงว่า พยายามแบ่งหรือให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในข่าวสาร ข้อคิดเห็น หรือทัศนคติ จุดสำคัญของการสื่อสารก็คือ การจูงใจให้ผู้รับและผู้ส่งปรับเข้าหากันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ (จ้อย นันทวัชรินทร์, 2515, หน้า 106-107)
การสื่อสาร เป็นกิจกรรมหรือกระบวนการส่งข้อมูลข่าวสารไปยังบุคคลหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆโดยใช้สัญญาณ เช่น การพูด การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือสัญญาณวิทยุ(Sinclair, 1994, p. 279)
การสื่อสาร หมายถึง กระบวนการติดต่อส่งข่าวสาร ข้อเท็จจริง ความเห็นตลอดจน ท่าทีความรู้สึกต่าง ๆ ระหว่างบุคคล ซึ่งจะต้องมีทั้งผู้ส่งสาร ตัวสารและผู้รับสาร ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นใช้ถ้อยคำ กริยาท่าทางหรือเครื่องหมายอันเป็นสัญลักษณ์ของข่าวสาร (สมบูรณ์ สงวนญาติ, 2534, หน้า 190)
จากความหมายดังกล่าว จึงประมวลได้ว่า การสื่อสารหมายถึงกระบวนการส่งข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ หรือการถ่ายทอดความรู้ เนื้อหาสาระ ความรู้สึก เจตคติ ทักษะจากผู้ส่งไปยังผู้รับด้วยการใช้ถ้อยคำ กริยาท่าทางหรือสัญลักษณ์ ซึ่งมีผลทำให้เกิดความเข้าใจและความรู้สึกร่วมกัน

องค์ประกอบและกระบวนการสื่อสาร
การสื่อสารในชีวิตประจำวันหรือการสื่อสารในสังคมทุกรูปแบบย่อมมีลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบพื้นฐานเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วยผู้ส่ง เนื้อหาสาระ สื่อหรือช่องทางและผู้รับ แต่ละส่วนมีความสำคัญและมีศักยภาพในตัวมันเองในการเชื่อมประสานกับส่วนอื่น เพื่อให้การสื่อสารแต่ละครั้งบรรลุวัตถุประสงค์ตามต้องการ

อธิบายได้ดังนี้
1. ผู้ส่ง หมายถึง แหล่งกำเนิดเนื้อหาสาระซึ่งอาจจะเป็นองค์กร บุคคล กลุ่มบุคคล หรือมวลชนที่มีจุดมุ่งหมายหรือเจตนาจะส่งเนื้อหาสาระไปยังผู้รับ ซึ่งอาจเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานก็ได้
2. เนื้อหาสาระ หมายถึง เนื้อหาสาระ ความรู้สึกนึกคิด เจตคติ ทักษะ ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในแหล่งกำเนิดหรือตัวผู้ส่งเอง สิ่งเหล่านี้จะถูกส่งไปยังผู้รับด้วยสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างด้วยกัน
3. สื่อหรือช่องทาง หมายถึง ช่องทางต่าง ๆ ที่ใช้ในการส่งและรับรู้เนื้อหาสาระ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย โดยอาศัยสื่อที่เหมาะสมกับช่องทางเป็นพาหะเช่น รูป เสียง กลิ่น รส และความรู้สึกสัมผัส
4. ผู้รับ หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร หรือ หน่วยงานที่รับรู้เนื้อหาสาระจากแหล่งกำเนิดหรือผู้ส่ง โดยอาศัยอวัยวะรับสัมผัสเป็นช่องทางในการรับรู้เนื้อหาสาระดังกล่าว

หน้าที่ของกระบวนการสื่อสาร
การสื่อสารมีหน้าที่ในการให้ข่าวสาร รับข่าวสาร แสดงอารมณ์ โน้มน้าวใจผู้อื่น สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิด สร้างความผูกพัน สร้างความร่วมมือร่วมใจ เรียกความสนใจ สร้างจุดเด่นและ เอกลักษณ์ส่วนตน
โดยทั่วไปหน้าที่การสื่อสารอาจจำแนกเป็น 6 กลุ่ม (ชัยยงค์ พรหมวงศ์, 2537, หน้า 59) ได้แก่
1. การสื่อสารในฐานะเครื่องมือให้ได้สิ่งที่ต้องการ (instrumental function)
2. การสื่อสารเพื่อควบคุมสั่งการ (regulatory function)
3. การสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ (interact ional function)
4. การสื่อสารส่วนบุคคล (personal function)
5. การสื่อสารเพื่อเสาะแสวงหาคำตอบ (heuristic function)
6. การสื่อสารเพื่อสร้างจินตนาการ (imaginative function)

รูปแบบของการสื่อสาร
กระบวนการสื่อสารของมนุษย์แต่ละรูปแบบมีลักษณะสลับซับซ้อนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยหรือองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นลักษณะของผู้ส่งและผู้รับ ระยะทาง วัตถุประสงค์ จำนวนผู้ส่งและผู้รับ สภาพการณ์ เนื้อหาสาระ เป็นต้น การรู้จักเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่เหมาะสมกับแต่ละโอกาสจะช่วยให้กระบวนการสื่อสารแต่ละครั้งประสบผลสำเร็จได้อย่างมี ประสิทธิภาพ รูปแบบของการสื่อสารจำแนกได้ดังนี้

1. การจำแนกตามคุณลักษณะของการสื่อสาร
การพิจารณาการสื่อสารตามคุณลักษะ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
การสื่อสารด้วยภาษาพูด (verbal communication) เป็นภาษาที่ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร เรียกว่า วจนภาษา ได้แก่ การพูด การอธิบาย การบรรยาย การร้องเพลง เป็นต้น
การสื่อสารด้วยภาษาท่าทางหรือสัญญาณ (non-verbal communication) เป็นภาษาที่ไม่ใช่คำพูดหรือการเปล่งเสียง เรียกว่า อวจนภาษา ใช้การขยับหรือเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ เช่น การยิ้ม กริยาท่าทาง ภาษามือ เป็นต้น
การสื่อสารด้วยภาษาภาพ (visual communication) เป็นภาษาที่เกิดจากการขีดเขียนซึ่งอาจเป็นรูปภาพ ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ก็ได้ เช่นโปสเตอร์ จดหมาย ลูกศร ตรา รูปภาพเครื่องหมาย ลายเซ็น เป็นต้น

2. จำแนกตามปฏิสัมพันธ์ของผู้รับและผู้ส่ง
การสื่อสารจำแนกตามปฏิสัมพันธ์ของผู้รับและผู้ส่ง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 การสื่อสารทางตรง (direct communication) เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งและผู้รับมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันโดยตรงเนื้อหาและวัตถุประสงค์จะสอดคล้องกันอย่างตรงไปตรงมา เช่น การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าในตลาดสด การเรียนการสอนในชั้นเรียน เป็นต้น
2.2 การสื่อสารทางอ้อม (indirect communication) เป็นการสื่อสารที่อาศัยสื่อหรือ วิธีการต่าง ๆ เป็นพาหะในการถ่ายทอดเนื้อหาสาระ โดยที่ผู้ส่งกับผู้รับไม่มีปฏิสัมพันธ์กันโดยตรง เช่น การโฆษณาทางโปสเตอร์ การใช้สัญลักษณ์แสดงความหมายของสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น

3. จำแนกตามพฤติกรรมในการโต้ตอบ
จำแนกตามพฤติกรรมในการโต้ตอบของผู้รับแลละผู้ส่ง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
3.1 การสื่อสารทางเดียว (one-way communication) เป็นสื่อสารที่ผู้ส่งเป็นกระทำแต่ฝ่ายเดียว ผู้รับไม่สามารถตอบสนองหรือโต้ตอบได้ทันทีทันใด (immediate response) แต่ก็ยังสามารถสื่อสารย้อนกลับในภายหลังได้ เช่น การจัดรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ การใช้โทรเลข โทรสาร เป็นต้น
3.2 การสื่อสารสองทาง(two-way communication)เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งและผู้รับมีโอกาสโต้ตอบกันได้ทันท่วงทีโดยผู้ส่งและผู้รับอาจอยู่ใกล้กันในสถานที่เดียวกันหรือหากอยู่ห่าง ไกลกันก็จะใช้เครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารช่วยได้ เช่น โทรศัพท์ วิทยุมือถือ เป็นต้น

4. จำแนกตามจำนวนของผู้ร่วมสื่อสาร
จำแนกตามจำนวนของผู้ร่วมสื่อสารแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
4.1 การสื่อสารในตนเอง (self-communication) เป็นการสื่อสารภายในตัวเอง โดยตัวเองจะเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับในขณะเดียวกันเช่น การสำรวจความรู้สึกนึกคิดของตนเอง การสังเกตและควบคุมอารมณ์ตนเอง การไตร่ตรองหาเหตุผลและตัดสินด้วยตนเอง เป็นต้น
4.2 การสื่อสารระหว่างบุคคล (interpersonal communication) เป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล 2 คนโดยบุคคลทั้งสองอาจเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ส่งและผู้รับสลับกันไปตามวาระที่เหมาะสม เช่น การสนทนา การสัมภาษณ์ การโต้ตอบสารทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
4.3 การสื่อสารแบบกลุ่มบุคคล (group communication) เป็นการสื่อสารที่มีจำนวนผู้ส่งและผู้รับมากกว่าการสื่อสารระหว่างบุคคล อาจเป็นผู้ส่งคนเดียวกับผู้รับ เป็นกลุ่มบุคคล ผู้ส่งเป็นกลุ่มบุคคลกับผู้รับคนเดียว ผู้ส่งเป็นกลุ่มบุคคลกับผู้รับเป็นกลุ่มบุคคลเช่นกันเช่น การเรียนการสอนในห้องเรียนทั่วไป กลุ่มตำรวจช่วยกันสอบสวนผู้ต้องหา กิจกรรมโต้วาทีระหว่างนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กับ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้น
4.4 การสื่อสารมวลชน (mass communication) เป็นการสื่อสารกับกลุ่มชนจำนวนมากมายมหาศาล จำเป็นต้องใช้สื่อที่มีศักยภาพในการแพร่กระจายข่าวสารได้อย่างกว้างไกลเพื่อจะให้ครอบคลุมพื้นที่และปริมาณประชาชนได้อย่างทั่วถึง เช่น วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต นิตยสาร โปสเตอร์ แผ่นพับ ใบปลิว เป็นต้น

อุปสรรคในการสื่อสาร
การสื่อสารอาจล้มเหลวได้เนื่องจากอุปสรรคด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้
1. ผู้ส่งสารขาดความสามารถและความตั้งใจในการเข้ารหัส (encode) ทำให้แปลความต้องการของตนเป็นสัญลักษณ์หรือสัญญาณผิดพลาดหรือไม่สามารถเข้ารหัสได้เลย
2. ความบกพร่องของสื่อหรือช่องทาง การเลือกใช้สื่อและช่องทางที่ไม่เหมาะสม เนื้อหาสาระหรือวัตถุประสงค์จะทำให้ประสิทธิภาพของการสื่อสารลดลงได้
3. ผู้รับสารขาดความรู้ความชำนาญเรื่องที่จะรับหรือไม่ตั้งใจรับ ไม่สามารถถอดรหัสได้ตามความต้องการของผู้ส่งได้
4. อุปสรรคจากสิ่งรบกวน(noise) มี 2 ประเภท คือ สิ่งรบกวนภายนอก เช่น เสียงที่ ดังรบกวน อากาศร้อน แสงแดด กลิ่นไม่พึงประสงค์ และสิ่งรบกวนภายใน เช่น อารมณ์ขุ่นมัว ความเครียด ความวิตกกังวล การมีอคติทั้งผู้ส่งและผู้รับ
5. สารหรือเนื้อหาสาระมีความยาวไม่เหมาะสม เช่น ยาวเยิ่นเย้อ หรือรวบรัดเกินไป ยุ่งยากซับซ้อนมากเกินไป เนื้อหาขัดกับความเชื่อเดิม
6. ผู้ส่งและผู้รับมีความแตกต่างในด้านภาษา วัฒนธรรม และสังคม


การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงโดยทั่วไปจะเกิดจากการสื่อสารโดยตรงแบบเผชิญหน้า เป็นการสื่อสารแบบสองทางผู้ส่งและผู้รับสามารถโต้ตอบกันได้ทันทีทันใด เนื้อหาเรื่องราวต้องเหมาะกับธรรมชาติของผู้รับไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ วัย ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเชื่อ การสื่อสารที่เปิดโอกาสให้ผู้ส่งและผู้รับใช้สื่อได้หลายช่องทาง ซึ่งแต่ละช่องทางจะส่งเสริมและตอกย้ำการรับรู้ซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันผู้รับต้องสามารถรับสารได้ในปริมาณที่มากพอและมีความแม่นยำเที่ยงตรงสูงในการถอดรหัส นอกจากนี้ในการสื่อสารแต่ละครั้งต้องหลีกเลี่ยงอุปสรรคในการสื่อสารดังที่กล่าวมาข้างต้น

การสื่อสารกับการรับรู้และการเรียนรู้
การรับรู้ (perception) เป็นกระบวนการแปลความหรือตีความต่อสิ่งเร้าที่ผ่านอวัยวะรับสัมผัสทั้งหลายได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น ผิวกาย ซึ่งเป็นขั้นการรับข้อมูลข่าวสารในระยะแรกแล้วนำเข้าสู่สมองในรูปของไฟฟ้าและเคมี สมองทำหน้าที่เป็นคลังข้อมูลมหาศาลก็จะตีความสิ่งเร้าหรือข้อมูลข่าวสารนั้นโดยอาศัยการเปรียบเทียบกับข้อมูลเก่าที่เคยสะสมไว้ก่อน ซึ่งอยู่ในรูปของความจำหรือประสบการณ์เดิม เมื่อสมองตีความได้แล้วสิ่งเร้านั้นก็จะถูกนำไปเก็บรวบรวมไว้ในคลังสมองเป็น วัฏจักรต่อไป ประสบการณ์ดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดความคิดรวบยอด เจตคติ กับสิ่งเร้าใหม่ซึ่งมีผลต่อการคิดและตัดสินใจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเดิมไปสู่ พฤติกรรมใหม่ ที่ค่อนข้างถาวรซึ่งเรียกว่า การเรียนรู้

แบบจำลองของการสื่อสาร
นักวิชาการหลายท่านได้ศึกษาถึงพฤติกรรมการสื่อสารเพื่อค้นหารูปแบบที่เข้าใจง่ายและมีประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตในสังคมให้มากที่สุด โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาจะสามารถใช้ทฤษฎีการสื่อสารเป็นแนวทางในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ในสภาพจริงของกระบวนการเรียนการสอนครูผู้สอนสามารถบูรณาการรูปแบบการสื่อสารแบบ ต่าง ๆ เข้ามาใช้ร่วมกันให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ได้ โดยอาศัยแบบจำลองการสื่อสารของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงดังต่อไปนี้


1. แบบจำลองของลาสเวลล์
ลาสเวลล์ (Lasswell) เป็นนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่ได้ทำการวิจัยในเรื่องการสื่อสาร มวลชนไว้ในปีค.ศ.1948 และได้คิดแบบจำลองหรือสูตรการสื่อสารที่มีองค์ประกอบของกระบวน การสื่อสารที่สอดคล้องกันเป็นลำดับโดยในการสื่อสารนั้นจะต้องตอบคำถามต่อไปนี้ให้ได้ คือ ใคร พูดอะไร โดยช่องทางใด ไปยังใคร ได้ผลอย่างไร เมื่อนำมาเขียนเป็นแบบจำลองจะได้ดังนี้

ในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพเราสามารถนำแบบจำลองการสื่อสารของลาสเวลล์มาใช้ได้ดังนี้
ใคร (who) หมายถึง ครูกับผู้เรียน ซึ่งทั้งสองฝ่ายอาจสลับบทบาทกันเป็นผู้ส่งหรือผู้รับก็ได้ตามวาระที่เหมาะสม เช่น ในกรณีที่ครูบรรยายเนื้อหาแก่ผู้เรียน ครูก็จะเป็นผู้ส่งส่วนผู้เรียนเป็นผู้รับ แต่ในกรณีที่ครูฟังคำถามหรือคำตอบของผู้เรียน ครูกลายเป็นผู้รับส่วนผู้เรียนเป็นผู้ส่ง
พูดอะไร ด้วยวัตถุประสงค์อะไร(says what, with what purpose) หมายถึง เนื้อหาสาระซึ่งอยู่ในรูปของความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ความต้องการ ที่อยู่ภายในของผู้ส่งเมื่อส่งสาระไปสู่ผู้รับเพื่อให้เกิดการรับรู้แล้วต้องการให้ผู้รับแสดงพฤติกรรมอย่างไร เช่น ชื่นชม ออกไปให้ห่างไกล ให้ความร่วมมือ หรือเพียงรับรู้เท่านั้น
โดยใช้วิธีการและช่องทางใด (by what means, in channel) หมายถึง เนื้อหาสาระนั้นสัมพันธ์กับช่องทางการรับรู้ใดของผู้รับสาระเกี่ยวกับภาพสัมพันธ์กับการมองเห็นด้วยตา สาระเกี่ยวกับเสียงมีความสัมพันธ์กับการได้ยินทางหู สาระเกี่ยวกับรสชาติสัมพันธ์กับการรู้รสด้วยลิ้น สาระเกี่ยวกับกลิ่นสัมพันธ์กับการดมด้วยจมูก สาระเกี่ยวกับอุณหภูมิความร้อนหนาวและคุณสมบัติของพื้นผิวที่เรียบเนียนนุ่มหรือขรุขระสัมพันธ์กับการรับรู้ด้วยผิวกาย
ส่งไปยังใคร ในสถานการณ์อะไร(to whom, in what situation) หมายถึง ผู้รับหรือกลุ่ม เป้าหมายในการสื่อสารเป็นใคร จุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของกระบวนการสื่อสารคือผู้รับ หากผู้รับมีความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่ถูกส่งมาจากผู้ส่งอย่างถูกต้องหรือคล้ายคลึงกันถือว่าการสื่อสารนั้นประสบผลสำเร็จอย่างดีแล้ว อย่างไรก็ตามการที่ผู้รับจะรับรู้เนื้อหาสาระได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมขึ้นอยู่กับความสอดคล้องเหมาะสมของปัจจัยหลายประการ เช่น ความยากง่ายของเนื้อหา ภาษา สื่อ เวลาและสถานที่กับธรรมชาติของผู้รับ นอกจากนี้สภาพเศรษฐกิจสังคมและ ความเชื่อก็เป็นเหตุที่ส่งผลต่อการสื่อสารเช่นกัน
ได้ผลอย่างไร (with what effect) หมายถึง ผลที่ได้รับจากการสื่อสารนั้นเป็นอย่างไร เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ วัตถุประสงค์ในกระบวนการเรียนการสอน โดยทั่วไปคือให้ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้พฤติกรรมการเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นมากที่สุด และ คงทนอยู่กับผู้เรียนไปนานที่สุด ส่วนผลที่ได้จากการสื่อสารย่อมขึ้นอยู่กับเหตุ ปัจจัยหลายประการ เช่น เนื้อหาสาระไม่ชัดเจนหรือไม่เหมาะกับผู้รับซึ่งอาจจะยากหรือง่ายเกินไป ผู้ส่งหรือผู้รับหรือทั้งสองฝ่ายขาดทักษะการสื่อสาร นอกจากนี้ผลที่ได้รับอาจมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น ได้ผลน้อยหรือมากแต่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ได้ผลน้อยหรือมากแต่ไม่ตรงกับความต้องการ เป็นต้น

2. แบบจำลองของแชนนอนและวีเวอร์
แชนนอนและวีเวอร์ ( Shannon & Weaver) ได้เสนอแบบจำลองโครงสร้างของการสื่อสารขึ้นในลักษณะของการสื่อสารทางเดียวเชิงเส้นตรง ดังนี้


นักจิตวิทยายอมรับว่า รูปแบบของแชนนอนและวีเวอร์สอดคล้องกับลักษณะสื่อสารของมนุษย์อย่างแท้จริง เพราะมีผู้ส่ง(information source)เลือกสาร(message) ที่จะส่งได้แล้วซึ่งอาจเป็นคำพูด รูปภาพ เสียงดนตรี ก็จะส่งไปที่เครื่องส่ง (transmitter) เพื่อเปลี่ยนสารอยู่ในรูปของรหัส (signal) และส่งผ่านช่องทางของการสื่อสาร(communication channel) ไปถึงผู้รับสาร (receiver) เพื่อตีความให้เกิดความเข้าใจและมีปฏิกิริยาตอบสนอง อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสื่อสาร (destination of message)
การระบุถึงอุปสรรค (noise) ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนให้การสื่อสารลดลง เพราะในบางครั้งสัญญาณที่ส่งไปอาจถูกรบกวนหรืออาจมีบางสิ่งบางอย่างมาขัดขวางสัญญาณนั้น ทำให้สัญญาณ ที่ส่งไปยังจุดหมายปลายทางอาจจะผิดเพี้ยนไป จะเป็นเหตุก่อให้เกิดความล้มเหลวของการสื่อสาร เนื่องจากข้อมูลที่ส่งไปกับข้อมูลที่ได้รับไม่ตรงกัน ทำให้รูปแบบนี้สอดคล้องกับความเป็นจริง มากจนได้รับการยอมรับและกล่าวถึงทุกครั้งที่พูดกันถึงเรื่องรูปแบบของการสื่อสาร

3. แบบจำลองของ เบอร์โล
เบอร์โล ( Berlo ) ได้เสนอแบบจำลองการสื่อสาร ถือได้ว่าเป็นแบบที่สมบูรณ์มีลักษณะสอดคล้องกับองค์ประกอบพื้นฐานของการสื่อสารทั่วไปช่วยเสริมสร้างคุณภาพการสื่อสารทำให้ผู้รับมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปตามที่ผู้ส่งต้องการได้อย่างใกล้เคียงที่สุด ทั้งยังทำให้เข้าใจง่าย สะดวกสามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ไม่ยากนัก จึงได้รับความนิยมในวงการสื่อสารและวงการศึกษาอย่างแพร่หลาย บางครั้งเรียกแบบจำลองนี้ว่า SMCR model ซึ่งมีลักษณะดังนี้

จากแบบจำลองการสื่อสารของ เบอร์โล จะเห็นได้ว่าแต่ละองค์ประกอบของการสื่อสารมีส่วนในการเพิ่มคุณภาพของการสื่อสารดังนี้
3.1 ด้านผู้ส่งและผู้รับ เป็นจุดเริ่มต้นและจุดปลายทางของกระบวนการสื่อสารทั้งหมด ดังนั้นการสื่อสารจะประสบผลสำเร็จได้ทั้งผู้รับและผู้ส่งต้องมีพฤติกรรมดังนี้
3.1.1 ทักษะในการสื่อความหมาย ได้แก่ ทักษะการฟัง ทักษะการพูด ทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน
3.1.2 เจตคติ ได้แก่ เจตคติที่ดีต่อผู้ส่งและผู้รับ เจตคติที่ดีต่อสาระหรือเนื้อหา วิชา เจตคติที่ดีต่อการรับรู้ข่าวสารด้วยช่องทางต่าง ๆ
3.1.3 ระดับความรู้ ได้แก่ ระดับความรู้ที่ใช้ในการสื่อสารต้องมีความเหมาะ สมกับลักษณะทั้งของผู้รับและผู้ส่ง ไม่ยากหรือง่ายเกินไป
3.1.4 ฐานะทางสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ ลักษณะของเนื้อหาสาระต้องเหมาะสมกับฐานะทางสังคมและวิถีชีวิตของทั้งผู้ส่งและผู้รับ
3.2 ด้านสาระ สารหรือเนื้อหาสาระเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในของผู้ส่งจะอยู่ในรูปของความรู้สึก ทัศนคติ ความต้องการ ประสบการณ์ แล้วถูกแปลเป็นรหัสออกมาภายนอก อาจเป็นคำพูด การเขียน สีหน้า ท่าทาง ซึ่งองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดโครงสร้างของสารมีดังนี้
3.2.1 องค์ประกอบย่อย เป็นส่วนประกอบพื้นฐานสำคัญของโครงสร้าง เช่น ภาษาเขียนได้แก่ สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ ภาษาพูดได้แก่ ถ้อยคำ สำเนียง น้ำเสียง ภาษาท่าทาง ได้แก่ การเคลื่อนไหว ทิศทาง ความเร็ว/ช้า ภาษาภาพได้แก่ เส้น สี รูปร่าง รูปทรง เป็นต้น
3.2.2 โครงสร้าง หมายถึง ลักษณะภาพรวมที่เกิดจากการนำเอาองค์ประกอบ ย่อย ๆ มารวมกัน กลายเป็นโครงสร้างของเนื้อหาสาระหรือสารที่สมบูรณ์ การเปลี่ยนคุณลักษณะหรือคุณสมบัติขององค์ประกอบเช่น ตำแหน่ง ทิศทาง ความเข้ม ขนาด เวลา ก็จะส่งผลต่อโครงสร้างของเนื้อหาสาระนั้นด้วย เช่น ภาษาเขียน มาก กาม ยาก กาย เกี่ยวกับภาษาภาพ หากเส้นตรงตั้งฉากถูกเปลี่ยนเป็นเส้นเฉียง ความรู้สึกของภาพโดยรวมจะเปลี่ยนไปทันที ภาษาท่าทาง การเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้ากับการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วย่อมมีความหมายในการสื่อสารต่างกัน ความมืดและความสว่างย่อมส่งผลต่อความรู้สึกไม่เหมือนกัน
3.2.3 เนื้อหาสาระ หมายถึง ข้อมูลที่เป็นความรู้สึกนึกคิดเจตคติ ความต้องการ ที่เกิดขึ้นในของผู้ส่งเอง ข้อมูลนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร สอดคล้องเหมาะสมกับอะไร จะถ่ายทอดไปสู่ใคร จะวางแผนในการเข้ารหัสและจัดส่งอย่างไร สาระนั้นจึงจะไปถึงและกระตุ้นให้ผู้รับเกิดความรู้สึกได้คล้ายคลึงกับความรู้สึกของเราเอง ซึ่งแต่ละแนวทางย่อมได้ผล แตกต่างกัน
3.2.4 รหัสของสาระ หมายถึง กลุ่มสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาจัดแทนความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ความต้องการ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาภาพ ภาษาท่าทาง ผู้ส่ง จำเป็นต้อง ตัดสินใจว่าจะใช้รหัสแบบใดจึงจะสื่อสารได้ดีและบรรลุเป้าหมายได้ดีที่สุด
3.2.5 วิธีควบคุมสาระ หมายถึง วิธีการเลือกการจัดรหัสและเนื้อหาสาระให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถถ่ายทอดตามความต้องการของผู้ส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ส่งแต่ละคนจะมีวิธีหรือเทคนิคเฉพาะตัวในการสื่อสาร บางทีเรียกว่า “แบบ” หรือ “สไตล์” (style)
3.3 ด้านช่องทาง หมายถึง ช่องทางที่เนื้อหาสาระจะถูกสื่อหรือตัวกลางนำเข้าสู่ตัวผู้รับ โดยผ่านประสาทรับสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งแต่ละช่องทางมีปริมาณการรับรู้แตกต่างกันดังนี้ ตา75% หู 13% ผิวกาย 6% จมูก 3% ลิ้น 3% ส่วนประสิทธิภาพในการรับรู้ของประสาทสัมผัส แต่ละช่องทางจะขึ้นอยู่กับความสอดคล้องเหมาะสมของเนื้อหาสาระกับช่องทางนั้น ๆ เช่น ตาใช้ในการมองเห็น หูใช้ในการฟัง ผิวกายใช้ในการสัมผัส จมูกใช้ในการดมกลิ่น และลิ้นใช้ในการชิมรส เป็นต้น

4. แบบจำลองการสื่อสารของบาร์นลันด์
บาร์นลันด์ (Barnlund) (ชัยยงค์ พรหมวงศ์, 2537, หน้า 56) ได้เสนอแบบจำลองสองแบบคือ แบบจำลองการสื่อสารภายในบุคคล และแบบจำลองการสื่อสารระหว่างบุคคล
แบบจำลองการสื่อสารภายในบุคคล (Barnlund’s Intrapersonal model) เป็นแบบจำลองการสื่อสารกับตนเอง ประกอบด้วยบุคคล (P1) ตัวชี้นำหรือสิ่งเร้านอกตน (Public cue/stimuli=Cpu) ตัวชี้นำหรือสิ่งเร้าในตน (Private cue/stimuli Cbehnv) การใส่รหัส (Encoding-E) และการถอดรหัส (Decoding-D)
สิ่งเร้านอกตน (ภายนอกบุคคล) และสิ่งเร้าภายในตน (ภายในบุคคล) อาจมีผลทางบวกทางลบหรือกลาง ๆ ต่อบุคคลที่สื่อสารภายในตน บาร์นลันด์ ได้เขียนแบบจำลองการสื่อสารภายในของบุคคลตามแผนภูมิที่ 3.5



การสื่อสารในการเรียนการสอน

การสื่อสารในการเรียนการสอนควรคำนึงถึงกระบวนการสื่อสารระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน การปรับใช้การสื่อสารกับกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพและความล้มเหลวของการสื่อสารในกระบวนการเรียนการสอน ดังนี้

1. กระบวนการสื่อสารในการเรียนการสอน
การถ่ายทอดความรู้ในกระบวนการเรียนการสอน เป็นรูปแบบของการสื่อสารระหว่างครูผู้สอนหรือสื่ออื่น ๆ กับผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารในห้องเรียน นอกห้องเรียนหรือกิจกรรมการละเล่น การศึกษาค้นคว้า ย่อมมีจุดหมายให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละบทเรียน กระบวนการเรียนการสอนกับกระบวนการสื่อสารมีจุดประสงค์และกระบวนการเหมือนกัน

จากรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ในกระบวนการเรียนการสอน แสดงให้เห็นความ สัมพันธ์ขององค์ประกอบและโครงสร้างของการสื่อสาร ซึ่งแต่ละองค์ประกอบในกระบวนการเรียนการสอนมีความหมายดังนี้
1.1 ครู ในฐานะเป็นผู้ส่งและผู้กำหนดจุดมุ่งหมายของระบบการสอนทั้งหมด เพื่อ ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดศักยภาพของแต่ละคน ดังนั้นครูจึงควรมีภารกิจสำคัญดังนี้คือ ต้องทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่จะสอนเป็นอย่างดี ทำความรู้จักและเข้าใจนักเรียนเป็นรายบุคคล ครูต้องมีความสามารถในการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม เช่น การพูด การเขียน ลีลา ท่าทาง สามารถจัดบรรยากาศในการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการสื่อสาร ให้สอดคล้องกับการวางแผนจัดระบบการเรียนการสอนเหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียน
1.2 เนื้อหาบทเรียน มีความหมายรวมถึงหลักสูตร เจตคติ ความรู้สึก จุดมุ่งหมายเป็น สาระที่ครูต้องสื่อสารไปสู่ผู้เรียนด้วยวิธีที่เหมาะสม เนื้อหาบทเรียนที่ดีควรมีลักษณะดังนี้ คือ เหมาะกับธรรมชาติของผู้เรียนแต่ละเพศและวัย เช่น ระดับสติปัญญา ความสนใจ ความสามารถ ตลอด จนฐานะทางเศรษฐกิจสังคม สอดคล้องกับเทคนิควิธีสอน หรือสื่อต่าง ๆ เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกาลเวลาควรได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ
1.3 สื่อหรือวิธีการ เป็นตัวกลางหรือพาหะที่จะนำเนื้อหาสาระจากแหล่งกำเนิด เช่น บทเรียน ครู ไปสู่ผู้เรียนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อควรมีลักษณะเป็นดังนี้คือมีศักยภาพเหมาะกับลักษณะของเนื้อหาบทเรียน สอดคล้องกับธรรมชาติของประสาทรับสัมผัสแต่ละช่องทาง มีลักษณะเด่นกระตุ้นความสนใจได้ ดูง่าย สื่อความหมายดี มีความหมายถูกต้องสอดคล้องกับเรื่องราวที่เรียน จัดหาและเก็บรักษาง่าย ใช้สะดวก
1.4 นักเรียนหรือผู้เรียน เป็นเป้าหมายหลักของกระบวนการเรียนการสอน กิจกรรม การเรียนการสอนทุกรูปแบบเป็นไปเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งสิ้น ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้อย่างมี ประสิทธิภาพควรมีลักษณะดังนี้คือ มีความสมบูรณ์ทางด้านร่างกาย และจิตใจ มีความพร้อมความถนัดและความสนใจในเรื่องที่จะเรียนรู้ มีทักษะในการสื่อสารทั้งกับตนเองและผู้อื่น มี เจตคติที่ดีต่อครูผู้สอนและเนื้อหาบทเรียน
1.5 การประเมินผล เป็นการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับจากการสื่อสารหรือการเรียน การสอนทั้งระบบ เพื่อให้ทราบถึงข้อดีหรือข้อบกพร่องของครู เนื้อหาบทเรียน สื่อหรือวิธีการ และนักเรียน

2. ลักษณะการสื่อสารระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน
โดยปกติทั้งครูผู้สอนและผู้เรียนใช้การสื่อสารในการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นตลอดเวลาอยู่แล้ว จนถือได้ว่าการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต แต่การสื่อสารระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียนที่เป็นไปเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จะมีลักษณะดังนี้คือ เป็นการถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ตลอดจนการอบรมสั่งสอน อาจเป็นการสื่อสารแบบทางเดียวหรือสองทางก็ได้ การมอบหมายสั่งงานหลังจากการให้ความรู้แล้ว ควรมีการเน้นหรือทบทวนคำสั่งหรือข้อตกลง เพื่อให้เกิดความจำและความเข้าใจที่ถูกต้อง การให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาต่าง ๆ การสื่อสารจะถูกนำมาใช้ในหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น การสื่อสารทางเดียว การสื่อสารสองทาง เป็นต้น ในการวิจารณ์หรือการติชมงานเพื่อการปรับปรุงแก้ไขและการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน การสื่อสารที่ดีควรมีลักษณะสร้างสรรค์เป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้อย่างจริงจัง การสนทนาโต้ตอบตามปกติซึ่งเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ควรมีลักษณะเป็นกันเอง แสดงถึงความเอื้ออาทรและการมีเจตคติที่ดีต่อกัน

3. การปรับใช้การสื่อสารกับกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ
การจัดการเรียนการสอนให้ได้ผลดีต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้านเช่น ครูผู้สอน ผู้เรียน เนื้อหาบทเรียน สื่อการเรียนการสอน วิธีสอนหรือการสื่อสารกับผู้เรียน แต่ละด้านต้องสัมพันธ์สอดคล้องซึ่งกันและกัน ครูที่มีการสื่อสารที่ดีจะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างมีความหมายมีชีวิตชีวา มีเจตคติที่ดีต่อผู้สอนและบทเรียน เรียนรู้ได้อย่างเข้าใจ ดังนั้นการปรับใช้การสื่อสารเพื่อให้กระบวนการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพควรมีลักษณะดังนี้คือ ครูผู้สอนควรใช้การสื่อสารสองทางให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประเมินว่าการถ่ายทอดเนื้อหาสาระไปสู่ผู้เรียนได้ผลเป็นอย่างไร ทั้งผู้สอนและผู้เรียนจะสามารถปรับกระบวนการสื่อสารให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ในกระบวนการเรียนการสอน ครูควรใช้สื่อการสอนและสื่อการเรียนหลาย ๆ ชนิด หรือที่เรียกว่า “สื่อประสม” เพื่อให้สอดคล้องกับความถนัดและความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน เช่น บางคนเรียนรู้ได้ดีจากการฟัง บางคนเรียนรู้ได้ดีจากการดูภาพหรืออ่านหนังสือ เป็นต้น กระบวนการเรียนการสอนที่ดีควรให้ผู้เรียนมีประสบการณ์หลายด้านด้วยการใช้ประสาทสัมผัสหลายทาง การที่ผู้เรียนรับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งจากประสาทสัมผัสหลายด้าน จะเป็นการตอกย้ำพฤติกรรมการรับรู้และเรียนรู้ให้เด่นชัดและเข้มข้น จนในที่สุดกลายเป็นประสบการณ์ถาวรตลอดไป
นอกจากนี้ครูควรมีทักษะในการสื่อสารหรือการถ่ายทอดความรู้หลายด้าน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำคัญผู้ที่มีอาชีพครู เช่น การพูด การฟัง การเขียน ตลอดจนทักษะการใช้สื่อหลายชนิดประกอบการเรียนการสอน ตั้งแต่สื่อพื้นฐาน เช่น แผนภูมิ รูปภาพ โปสเตอร์ ตลอดจนถึงการใช้สื่อคอมพิวเตอร์ เป็นต้น อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งของการสื่อสารในกระบวนการเรียนการสอนได้แก่ สิ่งรบกวนต่าง ๆ เช่น กลิ่นเหม็น อากาศร้อน ฝนเปียก ลมแรง เสียงดัง ดังนั้นครูควรป้องกันหรือขจัดปัญหาเกี่ยวกับสิ่งรบกวนให้หมดสิ้นหรือเหลือน้อยที่สุด ผู้เรียนเองก็ควรจะเพิ่มประสิทธิภาพ ในการรับรู้และเรียนรู้ ด้วยการให้ความสนใจ สังเกต ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอยู่เสมอ ต้องพยายามเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์จากบทเรียนให้สัมพันธ์กับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน จะช่วยให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้

4. ความล้มเหลวของการสื่อสารในกระบวนการเรียนการสอน
ปัญหาอุปสรรคในการเรียนรู้ของผู้เรียนประการหนึ่งคือความล้มเหลวในการสื่อสารหรือการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในกระบวนการเรียนการสอน ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการดังนี้คือ ครูไม่บอกจุดประสงค์ในการเรียนการสอนให้ผู้เรียนทราบก่อนลงมือสอน ทำให้ผู้เรียนขาดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนในการเรียนรู้ในเนื้อหาบทเรียนนั้น ๆ ครูไม่คำนึงถึงข้อจำกัดและขีดความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน จึงมักใช้วิธีสอนแบบเดียวกันกับผู้เรียนทุกคนทุกเนื้อหาบทเรียน เช่น การสอนด้วยการบรรยายเพียงอย่างเดียว การสอนเนื้อหาตามที่ครูผู้สอนเข้าใจ ขาดการวิเคราะห์และสังเคราะห์ให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละกลุ่มแต่ละคน ครูไม่สนใจที่จะจัดบรรยากาศการเรียนการสอนให้เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างมีความหมายสำหรับผู้เรียน ไม่สร้างความพร้อมให้แก่ผู้เรียนก่อนลงมือสอน ไม่หาวิธีป้องกันและขจัดปัญหาสิ่งรบกวนต่าง ๆ ครูนำเสนอเนื้อหาสาระวกวน สับสน ไม่สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน สลับกันไปมาทำให้เข้าใจยาก บางครั้งอาจจะนำเสนออย่างรวดเร็วจนผู้เรียนตามไม่ทันในสถานการณ์นั้น ครูบางคนใช้ภาษาไม่เหมาะกับระดับหรือวัยของผู้เรียน อาจเป็นคำหรือภาษาที่เข้าใจยาก นอกจากนี้ครูยัง ไม่สนใจ ที่จะเลือกหรือใช้สื่อการสอนให้เหมาะกับเนื้อหาและระดับของผู้เรียนด้วย

บทสรุป
การสื่อสารกระบวนการถ่ายทอดเนื้อหาและความรู้สึกนึกคิดประกอบด้วย ผู้ส่ง เนื้อหาสาระ สื่อหรือช่องทางและผู้รับ การสื่อสารทำได้หลายรูปแบบทั้งภาษาพูด ทางอ้อม ทางเดียว สองทาง ในตนเอง ระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคล และการสื่อสารมวลชน ทั้งนี้ได้มีผู้คิดแบบจำลอง การสื่อสารได้หลายแบบ ส่วนจะมีประสิทธิภาพสูงหรือล้มเหลวก็เนื่องมาจากองค์ประกอบและ รูปแบบดังกล่าว
การสื่อสารมีความสัมพันธ์กับการรับรู้และการเรียนรู้ กระบวนการสื่อสารกับกระบวน การเรียนการสอน มีจุดประสงค์และกระบวนการเหมือนกัน การสื่อสารในการเรียนการสอนควรคำนึงถึงกระบวนการสื่อสารในการเรียนการสอน ลักษณะการสื่อสารระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน การปรับใช้การสื่อสารกับกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพและความล้มเหลวของการ สื่อสารในกระบวนการเรียนการสอน โดยมีองค์ประกอบคือ ครู เนื้อหาบทเรียน สื่อหรือวิธีการ นักเรียน และการประเมินผล

คำถามทบทวน
1. การสื่อสารหมายถึงอะไร
2. องค์ประกอบที่สำคัญของการสื่อสารได้แก่อะไร
3. รูปแบบของการสื่อสารจำแนกตามคุณลักษณะของการสื่อสารเป็นอย่างไร
4. รูปแบบของการสื่อสารจำแนกตามปฏิสัมพันธ์ของผู้รับและผู้ส่งเป็นอย่างไร
5. รูปแบบของการสื่อสารจำแนกตามพฤติกรรมในการโต้ตอบเป็นอย่างไร
6. การสื่อสารที่ล้มเหลวเกิดจากอุปสรรคใด
7. การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงเกิดจากอะไร
8. การสื่อสารกับการรับรู้และการเรียนรู้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
9. เราสามารถนำแบบจำลองการสื่อสารมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างไร
10. การสื่อสารภายในบุคคลและการสื่อสารระหว่างบุคคลมีความสัมพันธ์กับ การสื่อสารในการเรียนการสอนอย่างไร

ที่มา : ผศ.วิวรรรธน์ จันทร์เทพย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น